นโยบายการรับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

นโยบายการรับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

 

  1. วัตถุประสงค์

บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (“บริษัท”) ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส มีคุณธรรม และเป็นตามหลักกฎหมายและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการรับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียจากการกระทำผิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณธุรกิจ โดยการเปิดโอกาสและสนับสนุนช่องทางการทำงานให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัทสามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนถึงการปฏิบัติที่ขัดแย้งหรือสงสัยว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับบริษัท จรรยาบรรณธุรกิจ การกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย หรือกระทำที่ขาดความระมัดระวังหรือขาดความรอบคอบอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยกันปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสม โปร่งใส และยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน รวมถึงเรื่องที่แจ้งจะถูกเก็บเป็นความลับเพื่อป้องกันกรณีถูกละเมิดสิทธิ

 

  1. ขอบเขตของการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนสามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบเชิงลบต่อบริษัท ดังต่อไปนี้

  • กระทำที่ผิดกฎหมายหรือการไม่ปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ พฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตคอร์รัปชัน
  • การฝ่าฝืนกฎระเบียบและข้อบังคับของบริษัท
  • รายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง ระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง และการจัดทำเอกสารทางการเงินที่เป็นเท็จ
  • การกระทำที่เป็นการขัดแย้งทางผลประโยชน์

 

  1. วิธีการและช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

เมื่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกบริษัท พบเห็นการกระทำของบุคลากรของบริษัทที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ จริยธรรม จรรยาบรรณธุรกิจ การละเมิดสิทธิ หรือพฤติกรรมการที่ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ ขัดต่อนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดตามวิธีการดังนี้

 

แจ้งชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หรือช่องทางการติดต่อกลับของผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนที่สามารถติดต่อได้อย่างชัดเจน (หากมีความประสงค์) รวมถึงชื่อ – สกุล ของผู้กระทำผิด วันที่ สถานที่เกิดเหตุ รายละเอียดเรื่องที่กระทำผิด หลักฐานและพยาน (ถ้ามี) อย่างเพียงพอ มายังช่องทางดังนี้

 

ทางไปรษณีย์        :           ประธานกรรมการบริษัท หรือประธานกรรมการตรวจสอบ หรือประธานกรรมการอิสระ

บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 87/2 อาคารซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ออลซีซั่นส์เพลส ชั้น 45 ถนนวิทยุ

แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ทางอีเมล์              :           info@thaicapital.co.th

ทางเว็บไซต์          :           www.thaicapital.co.th

โทรศัพท์               :           0-2685-3600

โทรสาร                 :           0-2685-3607

อื่นๆ                      :           กล่องรับข้อเสนอแนะ / ความคิดเห็น / ข้อร้องเรียนภายในบริษัท

 

  1. กระบวนการดำเนินการเมื่อได้รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
  • เมื่อได้รับเรื่องการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน ให้ผู้รับเรื่องร้องเรียนตามช่องทางต่างๆ แจ้งการรับเรื่องดังกล่าวไปยังผู้แจ้งเบาะแส (กรณีที่ผู้แจ้งเบาะแสเปิดเผยตนเอง) พร้อมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและส่งเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายเพื่อดำเนินการ
  • หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประมวลผลและกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับเพื่อพิจารณาผลกระทบ ตลอดจนขั้นตอนและวิธีการจัดการที่เหมาะสมในแต่ละเรื่อง โดยจะต้องรายงานผลการตรวจสอบการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณารับทราบ
  • ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่า กรรมการ กรรมการชุดย่อย ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการ หรือพนักงานที่ถูกแจ้งเบาะแสหรือถูกร้องเรียนอาจมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและ/หรือจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอันอาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัท ให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายรายงานความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบดังกล่าวไปยังคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาสั่งการและกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ไขและพิจารณากำหนดบทลงโทษต่อไป

 

  1. มาตรการคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

ผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนจะได้รับความคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • ผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนสามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยตนเองได้ หากเห็นว่า การเปิดเผยนั้นจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยหรือเกิดความเสียหายใดๆ แต่หากมีการเปิดเผยตนเองก็จะทำให้บริษัทสามารถรายงานความคืบหน้าชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบหรือบรรเทาความเสียหายได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
  • บริษัทจะไม่เปิดเผยชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอื่นใดที่สามารถระบุตัวผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนได้ แล้วดำเนินการสืบสวนว่า มีมูลความจริงเพียงใดหรือไม่
  • ผู้รับข้อร้องเรียนต้องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นความลับและจะเปิดเผยเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงความปลอดภัยและความเสียหายของผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน แหล่งที่มาของข้อมูลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  • กรณีที่ผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเห็นว่า ตนอาจได้รับความไม่ปลอดภัย หรืออาจเกิดความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนสามารถร้องขอให้บริษัทกำหนดมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมก็ได้ หรือบริษัทอาจกำหนดมาตรการคุ้มครองโดยไม่ต้องร้องขอก็ได้ หากเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเดือดร้อนเสียหายหรือความไม่ปลอดภัย
  • ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายด้วยกระบวนการที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
  • หากผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนได้รายงานข้อวิตกกังวลหรือตั้งคำถามโดยสุจริต บริษัทไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างให้มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นผลเสียต่อการจ้างงานของพนักงานผู้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการย้ายงาน ลดตำแหน่งหน้าที่ พักงาน ตัดสวัสดิการที่พึงได้รับ รวมถึงห้ามมิให้บุคคลใดๆ ดำเนินการตอบโต้กลับผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน ทั้งนี้ การกระทำตอบโต้ต่อผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนที่รายงานข้อวิตกกังวลหรือข้อสงสัยโดยสุจริตเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณธุรกิจ อาจเป็นเหตุให้ถูกพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามระเบียบของบริษัท โดยจะมีการพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาและลงโทษตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล

 

  1. การสอบสวนและบทลงโทษ
  • หากตรวจสอบแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ที่กล่าวหาได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน กระทำผิดกฎหมาย กฎระเบียบ หรือจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท จะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวได้รับทราบข้อกล่าวหาและพิสูจน์ตนเอง โดยหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา
  • หากผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตคอร์รัปชัน กระทำผิดกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท จริง ผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำผิดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน นโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณธุรกิจ จะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ และหากการกระทำเป็นการกระทำต่อกฎหมาย ผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษทั้งทางกฎหมายและโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัท

 

  1. การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนที่เป็นเท็จ
  • ในกรณีที่ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนแจ้งข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นเท็จ อันเนื่องมาจากเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือเป็นการกล่าวร้ายต่อผู้อื่น บริษัทจะดำเนินการทางวินัยและ/หรือกฎหมายกับผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนที่เป็นเท็จ
  • ผู้ที่กระทำการใดๆ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ รวมถึงมีพฤติกรรมที่ส่งไปในทางกลั่นแกล้ง ข่มขู่ หรือเลือกปฏิบัติด้วยวิธีอันมิชอบอันเนื่องมาจากการแจ้งเบาะแสต่อผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามนโยบายนี้ ให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำผิดวินัยและต้องรับผิดชอบต่อค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งต่อบริษัทและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว

 

นโยบายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

 

จึงประกาศมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วไป

 

นายมั่นสิน ชัยวิกรัย

ประธานกรรมการ

บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)