นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

 

นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (“บริษัท”) ยึดมั่นต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อบุคลากรของบริษัททุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานในทุกกิจกรรมของการดำเนินธุรกิจ บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทขึ้นให้สอดคล้องกับกฎหมายไทยและมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เช่น หลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR), หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) และหลักการด้านสิทธิแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International labor Organization’s Declaration on Fundamental Principles Rights at work) เป็นต้น

 

นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกระดับต้องตระหนักถึงความสำคัญและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในทุกด้านของบุคลากรภายในและภายนอกบริษัท ตลอดจนสังคมและชุมชนตามกฎหมายของแต่ละประเทศ และตามสนธิสัญญาที่แต่ละประเทศมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติต่อกัน โดยยึดหลักการปฏิบัติต่อทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการสื่อสาร เผยแพร่ให้ความรู้ ทำความเข้าใจ กำหนดแนวทาง สอดส่องดูแล และให้การสนับสนุนอื่นใดแก่บุคลากรภายในและภายนอกบริษัท ส่วนงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันทางธุรกิจ ตอลดจนบุคคล กลุ่มบุคคล และเครือข่ายในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างมีคุณภาพ เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชนตามแนวนโยบายนี้

 

แนวปฏิบัติ

  1. ให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างทางกาย จิตใจ เชื้อชาติ สัญชาติ ประเทศ ต้นกำเนิด เผ่าพันธุ์ ศาสนา เพศ ภาษา อายุ สีผิว การศึกษา สถานะทางสังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม หรือเรื่องอื่นใด
  2. พึงหลีกเลี่ยงและใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม
  3. สนับสนุนสิทธิแรงงานและกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องในเขตอำนาจตามกฎหมายที่ดำเนินงาน เช่น เคารพสิทธิในการเลือกผู้แทนในการร่วมเจรจาต่อรอง, ไม่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับทุกรูปแบบ, กำหนดอัตราค่าจ้างและชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรมและเหมาะสม จัดให้สวัสดิการและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีตามข้อกำหนดของกฎหมาย ตลอดจนการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
  4. สอดส่อง ดูแล และเฝ้าระวัง เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้
  5. สื่อสาร เผยแพร่ ให้ความรู้ ทำความเข้าใจ กำหนดแนวทาง และให้การสนับสนุนอื่นใดแก่พนักงาน ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อสร้างการรับรู้ รวมถึงมีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างมีคุณธรรม เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชนตามแนวนโยบายนี้
  6. จัดให้มีช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือพนักงานของบริษัท รวมถึงผู้ที่เชื่อว่าสิทธิของตนถูกละเมิดหรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม สามารถร้องเรียนต่อบริษัท โดยบริษัทจะต้องดำเนินการจัดการข้อร้องเรียนดังกล่าวอย่างเป็นธรรม
  7. บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและปกปิดข้อมูลบุคคลที่แจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่บริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชัน
  8. บริษัทจะพัฒนาและดำเนินกระบวนการจัดการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะระบุประเด็นความเสี่ยงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน กำหนดกลุ่มหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบ วางแผนและกำหนดแนวทางการแก้ไขและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงตรวจสอบติดตามผล โดยจัดให้มีกระบวนการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
  9. ผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้ จะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย

 

นโยบายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

 

จึงประกาศมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วไป

 

นายมั่นสิน ชัยวิกรัย

ประธานกรรมการ

บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)