นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

 

บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการของกลุ่มบริษัท โดยนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2555 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาพัฒนาเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของบริษัท ในการกำหนดระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ มีคุณธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริต เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่ความเจริญเติบโต และเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียโดยรวม โดยบริษัทได้ประกาศใช้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และการปฏิบัติที่ถูกต้องชัดเจน ครอบคลุมหลักปฏิบัติ 5 หมวดสำคัญ ดังนี้

 

  1. สิทธิของผู้ถือหุ้น

บริษัทมีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านสิทธิของผู้ถือหุ้นด้วยตระหนักถึงความสำคัญและความเท่าเทียมกันในสิทธิพื้นฐานต่างๆ ของผู้ถือหุ้นทุกราย ทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน โดยกำหนดให้ผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งกำไรของกิจการ สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารของกิจการอย่างเพียงพอ สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อออกเสียงลงคะแนนแต่งตั้งถอดถอนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี สิทธิในการเข้าร่วมตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อบริษัท เช่น การจัดสรรเงินปันผล การกำหนดหรือการแก้ไขข้อบังคับและหนังสือบริคณห์สนธิ การลดทุนหรือเพิ่มทุน และการอนุมัติรายการพิเศษ รวมถึงการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น เป็นต้น

 

  1. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

บริษัทมีนโยบายในการปฏิบัติและคุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทย ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นรายย่อย ผ่านการดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ตามหลักเกณฑ์กฎหมายและความเสมอภาคอย่างเคร่งครัด และบริษัทได้กำหนดแนวปฏิบัติเรื่องการรักษาความลับและการใช้ข้อมูลภายใน เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานได้ยึดถือและปฏิบัติเกี่ยวกับการไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

 

  1. บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงสังคมและชุมชนโดยรวม ผ่านการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกรายอย่างเป็นธรรม จึงได้กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกรายให้สามารถมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารงานของบริษัท โดยสามารถติดต่อสื่อสารเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือแจ้งข้อร้องเรียนผ่านหลากหลายช่องทางที่บริษัทกำหนด และเปิดเผยไว้แล้วบนเว็บไซต์ของบริษัทและรายงานประจำปี

 

  1. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

บริษัทให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และทันเวลา โดยเฉพาะข้อมูลที่มีผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจหรือมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงาน ทั้งรายงานข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามรอบระยะเวลาและข้อมูลทั่วไป ตลอดจนข้อมูลที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจนกฎหมายหรือหลักเกณฑ์อื่นๆ จึงได้กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่มีความโปร่งใส เพื่อให้ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนบุคคลทั่วไปได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญดังกล่าวอย่างถูกต้อง เท่าเทียม และเป็นธรรม

 

  1. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบที่มีการแบ่งแยกระหว่างกรรมการกับฝ่ายบริหารไว้อย่างชัดเจน โดยคณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ต้องบริหารจัดการบริษัทและควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารให้ดำเนินไปตามวิสัยทัศน์และพันธกิจภายใต้กรอบกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท รวมถึงมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง รักษาผลประโยชน์ของบริษัทภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ รายละเอียดโครงสร้าง หลักเกณฑ์ และแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท รวมถึงการทบทวนการกำกับดูแลกิจการด้านความรับผิดชอบของคณะกรรมการปรากฏตามกฎบัตรคณะกรรมการบริษัท กฎบัตรคณะกรรมการชุดย่อย จรรยาบรรณของกรรมการ และแนวปฏิบัติด้านแผนการสืบทอดตำแหน่ง

 

นอกจากนี้ กำหนดให้คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแลบริษัทให้สอดคล้องตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำหนดแนวปฏิบัติไว้ดังนี้

 

หลักปฏิบัติ 1       ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่า

ให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน

 

หลักปฏิบัติ 1.1      คณะกรรมการบริษัทต้องเข้าใจและตระหนักถึงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำองค์กรที่ต้องกำกับดูแลให้

องค์กรมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งครอบคลุมถึง

  • กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
  • การกำหนดกลยุทธ์ นโยบายการดำเนินงาน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
  • การติดตาม ประเมินผล และดูแลการรายงานผลการดำเนินงาน

 

หลักปฏิบัติ 1.2      ในการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการให้นำไปสู่ผล (governance outcome) อย่างน้อย ดังต่อไปนี้

  • สามารถแข่งขันได้ และมีผลประกอบการที่ดีโดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
  • ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิ และมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย
  • เป็นประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม
  • สามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

 

หลักปฏิบัติ 1.3      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ดูแลให้กรรมการทุกคนและผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง (duty of care) และซื่อสัตย์สุจริตต่อองค์กร (duty of loyalty) และดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

 

หลักปฏิบัติ 1.4      คณะกรรมการบริษัทต้องเข้าใจขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท และกำหนดขอบเขตการมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและฝ่ายจัดการอย่างชัดเจน ตลอดจนดูแลให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและฝ่ายจัดการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

 

หลักปฏิบัติ 2       กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน    

 

หลักปฏิบัติ 2.1      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัทที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน สอดคล้องกับการสร้างคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคมโดยรวม

 

หลักปฏิบัติ 2.2      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้มั่นใจได้ว่า วัตถุประสงค์และเป้าหมาย ตลอดจนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวของบริษัท สอดคล้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัท โดยส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในอย่างเหมาะสม ปลอดภัย

 

หลักปฏิบัติ 3       เสริมสร้างคณะกรรมการบริษัทที่มีประสิทธิผล  

 

หลักปฏิบัติ 3.1      คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบในการกำหนดและทบทวนโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท ทั้งในเรื่องจำนวน  องค์ประกอบ สัดส่วนกรรมการที่เป็นอิสระที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการนำพาองค์กรสู่วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักที่กำหนดไว้

 

หลักปฏิบัติ 3.2      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นประธานกรรมการ และดูแลให้มั่นใจว่า องค์ประกอบและการดำเนินงานของคณะกรรมการบริษัทเอื้อต่อการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ

 

หลักปฏิบัติ 3.3      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้การสรรหาและคัดเลือกกรรมการมีกระบวนการที่โปร่งใสและชัดเจน เพื่อให้ได้คณะกรรมการบริษัทที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับองค์ประกอบที่กำหนดไว้

 

หลักปฏิบัติ 3.4      ในการเสนอค่าตอบแทนกรรมการให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติ คณะกรรมการบริษัทต้องพิจารณาให้โครงสร้างและอัตราค่าตอบแทนมีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ และจูงใจให้คณะกรรมการบริษัทนำพาองค์กรให้ดำเนินงานตามเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

หลักปฏิบัติ 3.5      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้กรรมการทุกคนมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่และจัดสรรเวลาอย่างเพียงพอ

 

หลักปฏิบัติ 3.6      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้มีกรอบและกลไกในการกำกับดูแลนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทย่อยและกิจการอื่นที่บริษัทไปลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ในระดับที่เหมาะสมกับกิจการแต่ละแห่ง รวมทั้งบริษัทย่อยและกิจการอื่นที่บริษัทไปลงทุนมีความเข้าใจถูกต้องตรงกันด้วย

 

หลักปฏิบัติ 3.7      คณะกรรมการบริษัทต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดย่อยและกรรมการรายบุคคลเป็นประจำทุกปี โดยผลประเมินจะถูกนำไปใช้สำหรับการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วย

 

หลักปฏิบัติ 3.8      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้กรรมการแต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ลักษณะการประกอบธุรกิจ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนให้กรรมการทุกคนได้รับการเสริมสร้างทักษะและความรู้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่กรรมการอย่างสม่ำเสมอ

 

หลักปฏิบัติ 3.9      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ดูแลให้มั่นใจว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการบริษัทเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น และมีเลขานุการบริษัทที่มีความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นและเหมาะสมต่อการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการบริษัท

 

หลักปฏิบัติ 4       สรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารบุคลากร           

 

หลักปฏิบัติ 4.1      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ดำเนินการให้มั่นใจว่า มีการสรรหาและพัฒนากรรมการประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงให้มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย

 

หลักปฏิบัติ 4.2      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้มีการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนและการประเมินผลที่เหมาะสม

 

หลักปฏิบัติ 4.3      คณะกรรมการบริษัทต้องเข้าใจโครงสร้างและความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้นที่อาจมีผลกระทบต่อการบริหารและการดำเนินงานของบริษัท

 

หลักปฏิบัติ 4.4      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ติดตามดูแลการบริหารและการพัฒนาบุคลากรให้มีจำนวน ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และแรงจูงใจที่เหมาะสม

 

หลักปฏิบัติ 5       ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

 

หลักปฏิบัติ 5.1      คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่ธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างคุณประโยชน์ต่อลูกค้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

หลักปฏิบัติ 5.2      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ติดตามดูแลให้ฝ่ายจัดการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสะท้อนอยู่ในแผนดำเนินการ (operational plan) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทุกฝ่ายขององค์กรได้ดำเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก และแผนกลยุทธ์ (strategies) ของบริษัท

 

หลักปฏิบัติ 5.3      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ติดตามดูแลให้ฝ่ายจัดการจัดสรรและจัดการทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยคำนึงถึงผลกระทบและการพัฒนาทรัพยากรตลอดสาย value chain เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักได้อย่างยั่งยืน

 

หลักปฏิบัติ 5.4      คณะกรรมการบริษัทต้องจัดให้มีกรอบการกำกับดูแลและการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศระดับองค์กรที่สอดคล้องกับความต้องการของบริษัท รวมทั้งดูแลให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและพัฒนาการดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยง เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัท

 

หลักปฏิบัติ 6       ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม  

 

หลักปฏิบัติ 6.1      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้มั่นใจว่า บริษัทมีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผล และมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

 

หลักปฏิบัติ 6.2      คณะกรรมการบริษัทต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและอิสระ

 

หลักปฏิบัติ 6.3      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ติดตามดูแลและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างบริษัทกับฝ่ายจัดการ คณะกรรมการบริษัท หรือผู้ถือหุ้น รวมไปถึงการป้องกันการใช้ประโยชน์อันมิควรในทรัพย์สิน ข้อมูลและโอกาสของบริษัท และการทำธุรกรรมกับผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับบริษัทในลักษณะที่ไม่สมควร

 

หลักปฏิบัติ 6.4      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้มีการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่ชัดเจนและสื่อสารในทุกระดับขององค์กรและต่อคนนอกเพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติได้จริง

 

หลักปฏิบัติ 6.5      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้บริษัทมีกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการกรณีมีการชี้เบาะแส

 

หลักปฏิบัติ 7       รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล 

 

หลักปฏิบัติ 7.1      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลให้ระบบการจัดทำรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่างๆ ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

 

หลักปฏิบัติ 7.2      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ติดตามดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้

 

หลักปฏิบัติ 7.3      ในภาวะที่บริษัทประสบปัญหาทางการเงินหรือมีแนวโน้มจะประสบปัญหา คณะกรรมการบริษัทจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่า บริษัทมีแผนในการแก้ไขปัญหา หรือมีกลไกอื่นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินได้ ทั้งนี้ ภายใต้การคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย

 

หลักปฏิบัติ 7.4      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามความเหมาะสม

 

หลักปฏิบัติ 7.5      คณะกรรมการมีหน้าที่กำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการจัดให้มีหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบงานนักลงทุนสัมพันธ์ที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอื่น เช่น นักลงทุน นักวิเคราะห์ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เท่าเทียมกัน และทันเวลา

 

หลักปฏิบัติ 7.6      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูล

 

หลักปฏิบัติ 8       สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น 

 

หลักปฏิบัติ 8.1      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ดูแลให้มั่นใจว่า ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัท

 

หลักปฏิบัติ 8.2     คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการในวันประชุมผู้ถือหุ้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส มีประสิทธิภาพและเอื้อให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิของตน

 

หลักปฏิบัติ 8.3      คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ดูแลให้การเปิดเผยมติที่ประชุมและการจัดทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน

 

นโยบายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

 

จึงประกาศมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วไป

 

นายมั่นสิน ชัยวิกรัย

ประธานกรรมการ

บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)